khoseries

khoseries

ภาษียูทูบเบอร์ คำนวณอย่างไร อาชีพนี้มีรายได้จากทางไหนบ้าง

 

เปิดที่มารายได้ “ยูทูบเบอร์” อาชีพนี้มีรายได้จากทางไหนบ้าง ต้องหักค่าใช้จ่ายต่อปีเท่าไร หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีประเภทไหน มีวิธีการคำนวณอย่างไร

วันที่ 15 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน “ยูทูบเบอร์” เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่คนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นอาชีพอิสระ ได้ทำคอนเทนต์ที่ตนเองชื่นชอบ และสำหรับบางคนก็เรียกได้ว่า สามารถลืมตาอ้าปากได้เพราะอาชีพนี้เลย

ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 16 มีนาคม 2565
ผลสลากออมสินพิเศษ งวดวันที่ 16 มีนาคม 2565
อานิสงส์รัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำยางดิบนิวไฮรอบ 9 ปี
แต่แน่นอนว่า ทุกอาชีพที่มีรายได้ ต้องมีการเสียภาษี แล้วการเป็นยูทูบเบอร์ จะต้องเสียภาษีอะไรบ้าง และมีรายได้จากทางไหนนั้น “ประชาชาติธุรกิจ” สรุปข้อมูล พร้อมตัวอย่างการคำนวณการหักค่าใช้จ่ายจากรายได้ สำหรับผู้ที่กำลังจะเปิดช่องเป็นของตนเอง

ยูทูบเบอร์มีรายได้จากทางไหน
ยูทูบเบอร์ ถือเป็นอาชีพอิสระ และเป็นบุคคลตามมาตรา 40 เมื่อมีรายได้ จะต้องมีการหักค่าใช้จ่ายจากรายได้ดังกล่าว โดยหลัก ๆ แล้วยูทูบจะมีต้องมีการหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ประเภท 2 คือ ม.40 (2) และเงินได้ประเภท 8 คือ ม.40 (8) ซึ่งมีรายละเอียดการหักค่าใช้จ่าย ดังนี้

1. รายได้จาก Google Ad ส่วนแบ่งค่าโฆษณา : เป็นประเภทเงินได้ตามมาตรา 40 วรรค 2 จะถูกหักค่าใช้จ่าย แบบหักเหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

2. รายได้จากการรับจ้างรีวิวสินค้า : เป็นประเภทเงินได้ตามมาตรา 40 วรรค 2 จะถูกหักค่าใช้จ่าย แบบหักเหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

3. รายได้จากการโชว์ตัว ออกงานอีเวนต์ต่าง ๆ : เป็นประเภทเงินได้ตามมาตรา 40 วรรค 2 จะถูกหักค่าใช้จ่าย แบบหักเหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

4. รายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ : เป็นประเภทเงินได้ตามมาตรา 40 วรรค 8 จะถูกหักค่าใช้จ่าย แบบหักเหมา 60% หรือหักตามจริง โดยยูทูบเบอร์สามารถเลือกได้ว่า จะให้หักค่าใช้จ่ายแบบไหน

5. รายได้จากงานอีเวนต์ พรีเซ็นเตอร์ หรือการแสดงที่มีลักษณะเป็น “นักแสดงสาธารณะ” : เป็นประเภทเงินได้ตามมาตรา 40 วรรค 8 โดยมีการหักค่าใช้จ่าย ได้แก่ ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท หัก 60% และส่วนที่เกิน 300,000 บาท หัก 40% โดยทั้ง 2 ส่วนรวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท และการหักค่าใช้จ่ายตามจริง (มีหลักฐานค่าใช้จ่าย)

วิธีคำนวณหักค่าใช้จ่าย แบบเหมา 50%
การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% ของรายได้ทั้งหมด แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี มีตัวอย่างวิธีการคำนวณดังนี้

100,000 บาท (รายได้) x 50% (หักค่าใช้จ่าย) = 50,000 บาท (จำนวนเงินที่ถูกหัก)
50,000 บาท (รายได้) x 50% (หักค่าใช้จ่าย) = 25,000 บาท (จำนวนเงินที่ถูกหัก)
36,000 บาท (รายได้) x 50% (หักค่าใช้จ่าย) = 18,000 บาท (จำนวนเงินที่ถูกหัก)
เป็นทั้งยูทูบเบอร์ + พนักงานประจำ เสียภาษีเท่าไร
แต่ทั้งนี้ยังมีกรณีที่ยูทูบเบอร์มีรายได้จากงานประจำ (เงินเดือน) จะต้องนำรายได้จากทั้ง 2 ช่องทางมารวมกัน และคำนวณการหักค่าใช้จ่าย แต่จะถูกหักสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทเช่นกัน ดังนี้

100,000 บาท (รายได้ยูทูบเบอร์) + 100,000 บาท (เงินเดือนประจำ) x 50% (หักค่าใช้จ่าย) = 200,000 บาท (จำนวนเงินที่ถูกหัก)

จากนั้น นำ 200,000 บาท (จำนวนเงินที่ถูกหัก) – 100,000 บาท = 100,000 บาท (จำนวนเงินที่ถูกหักจริง)

วิธีคำนวณหักค่าใช้จ่าย แบบเหมา 60%
การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% หรือแบบหักตามจริง ของรายได้ทั้งหมด มีตัวอย่างวิธีการคำนวณดังนี้

200,000 บาท (รายได้) x 60% (หักค่าใช้จ่าย) = 120,000 บาท (จำนวนเงินที่ถูกหัก)
80,000 บาท (รายได้) x 60% (หักค่าใช้จ่าย) = 48,000 บาท (จำนวนเงินที่ถูกหัก)
กรณีที่เป็นการหักค่าใช้จ่ายตามจริง คือ การหักค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง ที่ยูทูบเบอร์ได้ใช้ไปกับการประกอบอาชีพ และต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ยูทูบเบอร์ คำนวณการเสียภาษีอย่างไร
ผู้ที่เป็นยูทูบเบอร์ จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และแม้ยูทูบเบอร์จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่ยังคงต้องดูจากสถานภาพด้วยเช่นกัน ได้แก่ ผู้ที่มีสถานภาพโสด และผู้ที่มีคู่สมรส

สถานภาพโสด : ยูทูบเบอร์ที่มีสถานะโสดที่มีรายได้ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี
ผู้มีคู่สมรส : ยูทูบเบอร์ที่มีคู่สมรสแล้ว มีรายได้รวมกันไม่เกิน 120,000 บาทต่อปี
ทั้ง 2 สถานะ มีวิธีการคำนวณการเสียภาษี คือ นำรายได้สุทธิ (รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อน) x อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

แต่หากมีรายได้มากกว่า 120,000 บาทต่อปี (ไม่รวมเงินเดือน) ต้องใช้วิธีคำนวณ คือ รายได้ x 0.5% แล้วมาเปรียบเทียบกับวิธีคำนวณตามปกติ ซึ่งหากวิธีดังกล่าวมีภาษีเกิน 5,000 บาท ให้เสียภาษีตามวิธีที่สูงกว่า แต่หากไม่เกิน 5,000 บาท ให้เสียภาษีตามการคำนวณวิธีปกติ

ยูทูบเบอร์ ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง
ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) : กำหนดยื่นภาษีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน ของปีนั้น ๆ โดยนำเงินได้ที่ไม่ใช้เงินได้ตามมาตรา 40 (1)(2) ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ของปีนั้น มารวมเพื่อคำนวณภาษี
ภาษีประจำปี (ภ.ง.ด.90) : กำหนดยื่นภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของปีถัดไป โดยนำเงินได้ทุกประเภทตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม ของปีนั้น มารวมคำนวณภาษี และนำภาษีที่ชำระตาม ภ.ง.ด.94 มาเครดิตภาษีได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม : เมื่อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการทั้งปีเกิน 1.8 ล้านบาท ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่หรือยื่นผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th
ทั้งนี้ ยูทูบเบอร์ต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้งตามไทม์ไลน์การเสียภาษีข้างต้น และต้องยื่นให้ถูกต้อง ตามเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นอาจถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลังได้

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance